จิปาถะ

เปิดวิธีคิด ผู้นำ ธพส. สร้างจุดแข็ง One Stop Service พัฒนาอาคารเขียวให้ภาครัฐ


01 กุมภาพันธ์ 2567

คอลัมน์ซีอีโอ โฟกัส เปิดวิธีคิด ผู้นำ "ธพส."สร้างจุดแข็ง One Stop Service พัฒนางานก่อสร้างอาคารสีเขียวให้หน่วยงานภาครัฐ หลังพลิกโฉมศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ สู่เมืองอัจฉริยะ ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการบริหารพื้นที่สร้างผลตอบแทนทำกำไร

เปิดวิธีคิด ผู้นำ ธพส. สร้างจุดแข็ง One Stop Service พ.jpg

การวางยุทธ์ศาสตร์ นำพาองค์กรก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยจุดประกายจาก “อาคารธนพิพัฒน์” อาคารสำนักงานทันสมัย ของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development ซึ่งเป็น บริษัทลูก กรมธนารักษ์ ต้นแบบอาคาร Net Zero building ปี 2570 และมีเป้าหมายนำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาและยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แจ้งวัฒนะ สู่เมืองอัจฉริยะ ต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการบริหารพื้นที่สร้างผลตอบแทน ทำกำไร

ภายใต้ แนวคิดของ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ DAD ซึ่งปี 2567 เป็นปีที่ 5 ในสมัยที่สองของตำแหน่ง เอ็มดี ในฐานะผู้บริหารศูนย์ราชการฯ แห่งนี้ ให้ประสบความสำเร็จ มีผู้เช่าเกือบเต็มพื้นที่โครงการกว่า 1 ล้านตารางเมตร  ที่ประเมินว่า ในปีนี้ จะสร้างการเติบโต 100% จากผู้เช่า หลังจากปีทีผ่านมาสร้างผลกำไรกว่า 400 ล้านบาท โดยไล่เรียงจาก พื้นที่อาคาร A และ B ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีผู้เช่าเต็มพื้นที่อยู่ก่อนหน้า ขณะอาคาร C  ออกแบบและพัฒนาเป็นอาคารประหยัดพลังงาน

ล่าสุดก่อสร้างแล้วเสร็จจิ๊กซอว์ตัวสำคัญ เติมเต็มรายได้ของ DAD  ตลอดจนรายได้จากปรับค่าเช่าใหม่ทั้งโครงการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปีที่ผ่านมา โดยปรับ 10% ทุกๆ 5 ปี สำหรับ อาคาร A และ B ค่าเช่าล่าสุดอยู่ที่ 479 .16 บาทต่อตารางเมตร (เกรด บีบวก) โซนซี ปรับ 7% ทุก 3 ปี ราคาค่าเช่าล่าสุด 390 บาทต่อตารางเมตร 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ DAD รับบริหารพื้นที่ 30 ปี จากกรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2551-2581 ซึ่งมีความท้าทายไม่น้อยกับการบริหารพื้นที่ขนาดใหญ่แห่งนี้  เมื่อถามดร.นาฬิกอติภัค ถึงจุดคุ้มทุนต่อการบริหารศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ คำตอบ คือ ไม่มี แต่ต้องบริหารต้นทุน นี้ให้ได้ ถึงปี 2581 ถ้าบริหารต้นทุนนี้ไม่ได้ จะมีปัญหาตามมา นั่นคือไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานกว่า 200 ชีวิต 

สำหรับทางออก คือต้องควบคุมต้นทุน เนื่องจากทราบรายได้ล่วงหน้า 30 ปี ว่าจะเข้ามาเท่าใด ดังนั้นต้องบริหารต้นทุน ให้อยู่ให้ได้ เช่น ค่าแม่บ้าน คนสวน พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.)ฯลฯ นอกจากนี้ต้องอาศัยการปรับราคาค่าเช่า ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ดร. นาฬิกอติภัค เล่าว่า DAD มีหน้าที่คุมต้นทุน  ซึ่งตามข้อเท็จจริงไม่ต้องทำอะไรก็ย่อมได้ เพราะมีรายได้จากการบริหารพื้นที่ 8% สำหรับรัฐวิสาหกิจถือว่าสูง และสร้างผลกำไรถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ในการใช้นวัตกรรมพัฒนา อาคารเขียวของ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯแจ้งวัฒนะ จึงเป็นจุดขายและจุดแข็ง เพื่อขยายธุรกิจ รับพัฒนาและก่อสร้างอาคารตามมาตรฐานอาคารเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำ “เป็นผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับภาครัฐ”  ตั้งเป้าปี 2567-2570 รับออกแบบและก่อสร้างอาคารได้อย่างน้อย ปีละ 2 โครงการ เริ่มจากปี นี้ มี 2 โครงการใหม่เตรียมก่อสร้างรวมมูลค่ากว่า 11,953 ล้านบาท 

ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้าง ซอยสุขุมวิท 11 วงเงินลงทุน 992 ล้านบาท และ 2.โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการและสนามกีฬาของกรมพลศึกษา ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ วงเงินลงทุน 10,961 ล้านบาท  นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างหารือเพื่อก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่  โครงการคลังเอกสาร อาคารจอดรถชั้น 5 (PPP) และโครงการอาคารสำนักงาน สรรพสามิตภาคที่ 10 หลังใหม่ ย่านลาดพร้าว-วังหิน

รวมถึงการขยายธุรกิจก้าวไปสู่การรับพัฒนาโครงการของภาครัฐแบบ one-stop service สำหรับหน่วยงานที่มีเงินนอกงบประมาณ ซึ่ง DAD จะทำหน้าที่ ตั้งแต่การออกแบบ ก่อสร้าง และบริหารจัดการ ด้วยการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความเชี่ยวชาญด้านอาคารเขียว ด้านพลังงาน ด้านการบำรุงรักษา รวมถึงการจัดทำแผนงานหรือแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก จากการบริหารจัดการอาคารเป้าหมาย

พร้อมกับดำเนินการตามแผนศึกษาแนวทาง Net Zero building การบริหารจัดการอาคารโดยใช้นวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการลูกค้าและผู้ใช้อาคาร การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กรให้ได้มาตรฐานตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อตอกย้ำ DAD เป็นองค์กรสมัยใหม่ในการพัฒนาและบริหารทรัพย์สินของรัฐให้เกิดมูลค่าเพิ่มเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น จึงเตรียมนำอาคารที่เป็นผลงานการออกแบบและก่อสร้าง เสนอชื่อขอใบรับรองอาคารประหยัดพลังงาน ตั้งเป้าปีละ 1 โครงการในเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570   

ได้แก่ อาคารโกลเด้น เพลซ สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคารสำนักงานกรมธนารักษ์  ซอยพหลโยธิน 11  อาคารอเนกประสงค์กรมสรรพสามิต  ราชวัตร อาคารจอดรถ D (DEPOT) และอาคาร C ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  ตามลำดับ  ขณะความคืบหน้าของการยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ  ดร.นาฬิอติภัค เล่าว่าปัจจุบันได้นำนวัตกรรมมาใช้กับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ และการกักเก็บน้ำฝนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ 

รวมถึงการปรับภูมิทัศน์ ควบคู่ไปกับการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถยนต์หน้าอาคาร B กับอาคาร C และพื้นที่บนอุโมงค์จะปรับเป็นสวนสาธารณะและทางเดินเชื่อมต่อระหว่างอาคาร B กับ C  รวมถึงการพัฒนาให้เกิดพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่างต่างๆ ทั้งแนวราบและดาดฟ้า เมื่อแล้วเสร็จจะมีพื้นที่สีเขียวในศูนย์ราชการฯ แห่งนี้รวมประมาณ 145 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 449 ไร่สามารถเป็นปอดให้กับพื้นที่ย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,962 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ที่มา : https://www.thansettakij.com/ceo/587348