จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : โลกเพิ่มบทบาทพลังงานสีเขียว หนุนผลงาน EP เติบโตก้าวกระโดด


28 พฤศจิกายน 2566
แนวโน้มการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานสะอาดทั่วโลกเติบโตได้ดีต่อเนื่อง กระตุ้นผลงาน บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ขยายตัวต่อเนื่องและแข็งแกร่ง 

รายงานพิเศษ EP.jpg
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และพลังงานลม (Wind) ปี 67 มีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
โดยตลาดการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั่วโลกยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง (ในปี 67 ขยายตัว 29% ต่อปี) และทยอยเพิ่มบทบาทในการผลิตไฟฟ้าของโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ได้แก่ 

          1. การลดการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงาน Fossil ที่ราคามีความผันผวน (โดยเฉพาะในแถบแอฟริกา) 

          2. แผนการเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเกือบ 50% ภายในปี 71 และเข้าสู่ Net zero ภายในปี 93 

          3. การอุดหนุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง 

          4. ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานอื่น ๆ ผนวกกับต้นทุนของแบตเตอรี่ ESS ที่ทยอยปรับตัวลดลง ช่วยลดข้อจำกัดในการใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 
          
จากแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในตลาด PPA ในต่างประเทศ เช่น ตลาดอินเดียและบางประเทศในแอฟริกาที่การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เติบโตดีในอีก 5 ปีข้างหน้า ท่ามกลางศักยภาพของพื้นที่เหมาะสม และนโยบายสนับสนุนตลาด PPA (พิจารณาจาก PPA policy score ที่จัดทำโดย EY)
ส่วนตลาดในไทย การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากแรงหนุนของตลาดที่ขายไฟให้ลูกค้าโดยตรง (Private PPA) และ Self consumption (ทั้งสองตลาดมีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นอีกมาก หากภาครัฐให้การสนับสนุน เช่น นโยบาย TPA : Third Party Access & Wheeling charges ) นอกจากนี้ ตลาดที่ขายไฟให้ภาครัฐ (Public PPA) ยังมีโอกาสเติบโต ทั้งจากโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลเฟส 2 ราว 2.6 GW และแผน PDP ใหม่ที่คาดว่า อาจประกาศได้ในปี 2567 (ซึ่งเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในสิ้นปี 2580 อาจจะเพิ่มขึ้นจากแผน PDP2018Rev1 กว่า 200%)
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม SCB EIC  คาดมีการเติบโตได้ดีที่ 14%YOY ในปี 67 และขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 28% ในปี 68-70 ตามนโยบายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก  โดยกลุ่ม ASEAN มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่มีภูมิประเทศที่มีศักยภาพและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนประเทศไทยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังเติบโตได้ จากแผนพลังงาน (PDP2018 Rev.1) ที่มีเป้าหมายรวมประมาณ  2,989 MW
การผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นอกจากจะได้ซื้อขายไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดแล้ว โรงไฟฟ้ายังสามารถเพิ่มมูลค่าทางรายได้อื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ Renewable Energy Certificates (RECs) และ Carbon credit ที่ทางผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถนำมาเป็นส่วนเพิ่มรายได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันเอกชนเริ่มนำ RECs มาใช้เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (Carbon emission) ใน Scope II อย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 100% ในช่วงปี 66-67 สำหรับ Carbon credit ที่สามารถใช้ลด Emission ใน scope I,II และ III ก็มีแนวโน้มเติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะในไทยที่เริ่มมีการซื้อขายในตลาดเสรี และมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นถึง 103%(CAGR) ในปี 59-66
การเติบโตของกระแสไฟฟ้าพลังงานสีเขียว สนับสนุนธุรกิจของบมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP)  ที่ประกอบธุรกิจ 2 ส่วนหลัก คือ

1) เป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ที่ดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์ในลักษณะครบวงจร ตั้งแต่วางแผนการผลิตจนกระทังเข้าเล่มเป็นสิ่งพิมพ์สำเร็จรูป และ
2) การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีการลงทุนในบริษัทร่วม ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ โดยโรงไฟฟ้าแบบพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration)
ซึ่งในส่วนของกลุ่มธุรกิจพลังงาน ปัจจุบันบริษัทฯดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นหลัก โดยมีโครงการSolar Rooftop, Solar farmในประเทศไทย ขนาดกำลังการผลิตรวม32.45เมกะวัตต์  ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการขายไฟฟ้าให้แก่ภาคเอกชน และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม (วินด์ฟาร์ม) 4โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม ซึ่งใช้งบลงทุนเมื่อ 3ปีที่ผ่านมา ประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 
โครงการในจังหวัด Gia Lai จำนวน 2โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 100 เมกะวัตต์  และในจังหวัด Huong Linh  จำนวน  2โครงการ ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ ปัจจุบันHL3ได้จ่ายไฟเข้าระบบครบถ้วน รอใบประกอบกิจการก็จะ COD และรับรู้รายได้ทันที ส่วน Gai Lai พร้อมจ่ายไฟเข้าระบบ 100% เพียงรออนุมัติจากการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เท่านั้น โดยจะทยอยรับรู้รายได้ทีละโครงการ รวม 4โครงการ คาดว่าจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้ารวมทั้ง 4โครงการ ประมาณเดือนละ 50 ล้านบาท ในปี 2566และ100 ล้านบาท ในปี 2567
EP