จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : TIDLOR มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตลูกค้า สร้างโอกาสทางการเงิน-เติบโตยั่งยืน


01 พฤศจิกายน 2566
รายงานพิเศษ TIDLOR มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตลูกค.jpg

ธุรกิจการปล่อยสินเชื่อแม้จะเน้นเรื่องของผลตอบแทนที่คุ้มค่าความเสี่ยง  แต่ไม่ใช่สำหรับบมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR) ที่มีวิสัยทัศน์ ส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส 


เป้าหมายในการทำธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของผลกำไรที่เกิดขึ้น แต่สำหรับบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR  แม้จะเป็นธุรกิจให้บริการทางการเงิน  แต่บริษัทยังความสำคัญกับ Financial Inclusion หรือการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรม 

โดยบริษัทมีวิสัยทัศน์และพันธกิจ “ที่จะทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริม และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ด้วยความเชื่อมั่นว่า การเข้าถึงบริการทางการเงินที่เป็นธรรมและโปร่งใส คือสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ เราส่งมอบโอกาสทางการเงิน โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมต่อลูกค้า เรียบง่าย สะดวก และรวดเร็ว ผ่านความจริงใจของพนักงาน” 

ซึ่งกรรมการผู้จัดการใหญ่  “ปิยะศักดิ์  อุกฤษฎ์นุกูล” ได้สะท้อนวิสัยทัศน์  โดยระบุกับผู้ถือหุ้นบริษัทว่า นอกเหนือไปจากผลกำไรทางการเงิน อยากที่จะย้ำกับท่านผู้ถือหุ้นว่าบริษัทของท่านให้ความสำคัญแก่ Financial Inclusion หรือการเข้าถึงบริการทางการเงิน แท้จริงแล้วเบื้องหลังของตัวเลขยอดสินเชื่อคงค้างหรือตัวเลขยอดขายเบี้ยประกันวินาศภัยที่เรานำเสนอคือ หลากหลายครอบครัวที่ตกอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่มีความไม่แน่นอน ลูกค้าของเราส่วนมากเป็นกลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารทั่วไป ประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ มีรายได้น้อยหรือไม่สม่ำเสมอ มีเงินออมน้อย และมีความรู้ทางการเงินในระดับที่ไม่สูงนัก  ทำให้เรามีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมในภารกิจที่มุ่งบรรเทาความลำบากของผู้คนเหล่านี้

โดยล่าสุด บมจ.เงินติดล้อ ร่วมกับองค์กรระดับโลก ศึกษาการเข้าถึงบริการทางการเงินของผู้ใช้สินเชื่อรายย่อยในประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

และล่าสุด TIDLOR ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานศึกษาวิจัยเรื่อง "การสร้างผลกระทบเชิงบวกที่มากกว่าการเข้าถึงการบริการสินเชื่อ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง หลังโควิด 19 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่จัดทำโดย Centre for Impact Investing and Practices (CIIP) องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร 

ซึ่งแบบสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้สมัครสินเชื่อที่ประกอบอาชีพอิสระหรือไม่มีแหล่งรายได้แน่นอน ครอบคลุมหลากหลายประเด็น เช่น การเข้าถึงสินเชื่อ ผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกค้า และการคุ้มครองสิทธิของลูกค้า อีกทั้งเอื้อประโยชน์ต่อการจัดทำ Microfinance Index 2023 (ดัชนีการเงินรายย่อยระดับโลก ประจำปี 2566)

นายปิยะศักดิ์  ระบุว่า การที่เราได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ นอกจากสำรวจการเข้าถึงบริการทางการเงินของกลุ่มผู้ใช้สินเชื่อรายย่อยในประเทศไทยแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาปรับใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้กับผู้ใช้สินเชื่อรายย่อยในอนาคตได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับกลุ่มผู้ใช้สินเชื่ออีกด้วย 

ทั้งนี้ บมจ.เงินติดล้อ เป็นองค์กรแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจในฐานะองค์กรที่มุ่งสร้างโอกาสทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากธนาคารทั่วไปได้ (Underbanked) ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมภายใต้แนวคิด SDGs: Sustainable Development Goals โดยมุ่งสร้างโอกาสทางความรู้ด้านการเงินให้กับชุมชนและประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง