จิปาถะ

'หมอธีระวัฒน์' เผยที่มาจีนเตือนไวรัส 20 สายพันธุ์ใหม่ ชี้อาจเกิดขึ้นได้ จากโควิดระบาดในคนไปติดเชื้อในสัตว์


27 กันยายน 2566

ตามที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ข้อมูลที่ ดร.ฉี เจิ่งลี่ ผู้อํานวยการศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ สถาบันไวรัสวิทยาเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนออกมาเตือนว่าพบไวรัสโคโรนาจากค้างคาวกว่า 20 สายพันธุ์ใหม่ “มีความเสี่ยงสูง” ที่อาจก้าวข้ามมาระบาดในคน โดยช่วงท้ายของโพสต์ดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลโพสต์เมื่อเดือนเม.ย.66 ที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าวด้วยนั้น

'หมอธีระวัฒน์' เผยที่มาจีนเตือนไวรัส.jpg

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 27 ก.ย.66 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า สถาบันวิจัยไวรัสอู่ฮั่นทำเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2004 ภายใต้ทุนวิจัยขององค์กรในประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นโครงการล่าไวรัสที่โลกไม่รู้จัก (Exotic Virus Hunting) เพื่อหาดูไวรัสที่ไม่มีชื่อที่อาจก่อโรคในคน โดยจะรวบรวมตัวอย่างจากค้างคาว นำมาตัดต่อพันธุกรรมเพื่อดูว่า ไวรัสนั้นเข้ากับมนุษย์ได้หรือไม่ ก่อโรคได้หรือไม่

ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เคยได้รับทุนวิจัยดังกล่าวเมื่อปี 2011 เพื่อเก็บรวมรวมตัวอย่างจากค้างคาวในประเทศไทย ดูว่าอยู่ในกลุ่มไวรัสตัวใด เป็นตัวที่ก่อโรคหรือไม่ โดยความร่วมมือนี้ไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทย ยังมีประเทศอื่นๆ ด้วย แต่ไทยก็ยุติความร่วมมือไปในปี 2018 เนื่องจากมีความกังวลถึงความปลอดภัยทางชีววัตถุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างเข้าไปเก็บเชื้อค้างคาวในพื้นที่ ที่ต้องเก็บสิ่งปฏิกูลค้างคาวและตัวอย่างเลือด การความปลอดภัยในขณะเก็บรักษาในห้องปฏิบัติการ

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า อีกสาเหตุที่ไทยยุติความร่วมมือ เนื่องจากความกังวลที่จะต้องส่งตัวอย่างค้างคาวไปต่างประเทศ เพื่อตัดต่อพันธุกรรมในสถาบันต่างๆ เราจึงขอยุติความร่วมมือทั้งหมด หลังจากนั้น ไทยก็ทำลายตัวอย่างที่เก็บมากว่าหมื่นตัวอย่างทิ้งไปแล้ว

จากนั้นปลายปี 2019 ก็พบการติดเชื้อไวรัสโคโรนาในคนขึ้นมา ที่จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า เกิดการจากติดเชื้อในธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็มีหลักฐานชัดเจนขึ้นว่าไวรัสหลุดรั่วออกจากห้องปฏิบัติการ เนื่องจากรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่พบ มีการตัดแต่งพันธุกรรมทำให้เข้าในมนุษย์และก่อให้เกิดโรคได้

โดยข้อมูลเหล่านี้เผยแพร่เป็นวารสารทางการแพทย์ของประเทศอังกฤษ (The British Medical Journal :BMJ) เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมาด้วย รวมถึงหนังสือพิมพ์ ‘วอชิงตันโพสต์’ ก็สัมภาษณ์ตนถึงเรื่องที่ไทยยุติความร่วมมือกับองค์กรทุนวิจัย

“ผมยืนยันว่าการล่าไวรัสไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่สามารถคาดการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจุลชีพที่อันตรายถึงชีวิตได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐสภาของสหรัฐฯ ก็ยังตรวจสอบอย่างเข้มข้นถึงความเชื่อมโยงการเกิดไวรัสโควิด-19 เพื่อหาที่มาของการระบาด แม้ที่ผ่านมาจะได้รับการยืนยันว่า เชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากห้องปฏิบัติการ ทั้งยังอ้างว่าเป็นทฤษฎีสมทบคิดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ออกมาเตือนว่าอาจพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่กว่า 20 สายพันธุ์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ก็อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งจากกรณีที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดในคน แต่กลับติดเชื้อเข้าไปในสัตว์ เกิดการผสมกับเชื้อโคโรนาในสัตว์ทำให้ไวรัสเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ก่อนกลับมาติดเชื้อในคนอีกครั้ง ก็จะทำให้เกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ และอีกกรณีคือการติดเชื้อจากไวรัสที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ ที่มีคลังของไวรัสอยู่จำนวนมากหรือไม่

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7886428