จิปาถะ

‘หมอชลน่าน’ อัพเกรด ‘30บาทพลัส’ สานต่อกัญชาการแพทย์


22 กันยายน 2566

หมายเหตุ – นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หรือ “หมอไหล่” ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาล

‘หมอชลน่าน’.jpg

 •เป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข?
การยกระดับ 30 บาท ให้เป็น 30 บาท พลัส มุ่งเน้นการยกระดับในทุกมิติของการให้บริการ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟู เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจ สติปัญญา และสุขภาพทางสังคม จึงเป็นที่มาของ 13 นโยบาย ที่แต่ละนโยบายจะมีโครงการเร่งรัด หรือควิก–วิน (Quick Win) เพื่อให้เกิดการปฏิบัติและเห็นผลได้ทันตาตามกรอบเวลา 100 วันแรก ที่ผมเข้ามาทำงาน ฉะนั้น สธ.จะมี 13 ควิก–วิน ให้ประชาชนได้เห็น ขอยกตัวอย่างโครงการควิก–วิน ที่เด่นและเห็นผลได้ทันตา นโยบายมะเร็งครบวงจร ที่มีโครงการควิก–วิน คือ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เด็กหญิงอายุ 11-20 ปี รวม 1 ล้านโดส มั่นใจว่าสามารถทำได้ภายใน 100 วัน

นโยบายดิจิทัลสุขภาพ กับควิก–วิน โครงการบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาได้ทุกโรค ทุกแห่งฟรี ระยะแรกจะนำร่องในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเป็นการดำเนินงานในโรงพยาบาล (รพ.) สังกัด สธ.ก่อน ซึ่ง 100 วันแรก จะเริ่มใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 ที่มีความพร้อมรองรับทั้งด้านสถานพยาบาลและการจัดการข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud) เมื่อประชาชนเจ็บป่วยสามารถเข้า รพ. ภายในเขตสุขภาพของตนเองได้ทุกแห่ง อย่างไรก็ตาม เป้าหมายสูงสุดของนโยบายคือ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการ รพ. ข้ามเขตสุขภาพได้ และมีการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ครอบคลุมสถานพยาบาลนอกสังกัด สธ.ต่อไป

ความกังวลว่า หากมีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวเข้า รพ.ได้ทุกแห่ง แล้วจะเกิดความแออัดใน รพ. ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้น จะเป็นสิ่งตรงข้ามกับวัตถุประสงค์ของนโยบายที่ต้องการลดความแออัดใน รพ. ดังนั้น หากมีบัตรใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาระบบมารองรับ สร้างความเข้มแข็งในระบบสุขภาพปฐมภูมิ การใช้เทเลเมดิซีน (Telemedicine) หรืออาจถึงขั้นทำเป็น รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ไปตั้งในชุมชน ดังนั้น ความแออัดใน รพ.ใหญ่ ก็จะถูกตัดออกไปทันที เพราะไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถพบแพทย์ได้

•จะยกระดับศักยภาพสาธารณสุขไทย สร้างเศรษฐกิจประเทศ?
มองถึงเรื่องเศรษฐกิจที่สุขภาพสามารถสร้างความมั่งคั่งได้ (Health For Wealth) จึงมาเป็น นโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ โดยพบว่า แต่ละเขตสุขภาพต่างมีความพร้อมประกาศให้มีเวลล์เนส คอมมูนิตี้ (Wellness Community) นโยบายนี้จะเป็นตัววัดมิติเชิงสังคมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและอายุยืน โดยสิ่งที่ต้องคำนึงต่อไปคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวด้วย นโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย เป็น 1 ใน 13 นโยบายด้วย ทั้งหมดนี้ เป็นความตั้งใจให้เกิดเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ เป็นจุดขายของประเทศไทยในการเป็นเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) บริการทางการแพทย์ให้แก่ชาวต่างชาติ แต่ในขณะเดียวกัน จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของประชาชนไทย

•นโยบายใดเป็นความท้าทายของรัฐมนตรีว่าการ สธ.
ลูกอยู่รอดแม่ปลอดภัย นโยบายที่เมื่อพูดแล้วมักจะเกิดประเด็น แต่จากข้อมูลประชากรไทย พบว่าอัตราเกิดของไทยเหลือเพียงปีละ 5 แสนคน คิดเป็น 1.5 ต่อแสนประชากร ขณะที่ตัวเลขเหมาะต้องไม่น้อยกว่า 2.1 ต่อแสน หรือมากกว่า 1 ล้านคน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงฐานประชากรของวัยแรงงานที่จะพัฒนาประเทศลดน้อยลง และมีกำลังแข่งขันกับประเทศอื่นลดลง ได้ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นแพทย์ใน รพ. จะต้องเน้นย้ำการค้นหาภาวะเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดโอกาสเกิดโรคในทารก ปัจจุบัน หากลูกในครรภ์มีความเสี่ยงที่เป็นอันตราย จะมีกฎหมายมารองรับการยุติครรภ์อย่างถูกต้อง 

อย่างไรก็ตาม หากทารกคลอดแล้ว จำเป็นต้องคัดกรองสุขภาพ ซึ่งระบบหลักประกันฯ ครอบคลุมใน 24 กลุ่มโรค จากนี้จะต้องขยายเป็น 40 กลุ่มโรค เพื่อให้เด็กเกิดอย่างมีคุณภาพ มีสติปัญญาดี ที่ผ่านมา มีการคัดกรองภาวะปัญญาอ่อนในทารก พบว่าร้อยละ 30 มีโอกาสเป็นปัญญาอ่อน แต่ถ้าหากเด็กได้รับการเลี้ยงดูอย่างถูกต้องในระยะ 2 ปีแรก จะมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่เป็นปัญญาอ่อน ที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะสามารถมีชีวิตอย่างปกติได้ ทั้งนี้ สธ.พร้อมส่งเสริมอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดี แก้ไขปัญหามีบุตรยาก และจะต้องเปิดช่องกฎหมายให้เกิดการอุ้มบุญถูกกฎหมาย เพื่อเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กไทย แต่การจะแก้ไขปัญหานี้ ต้องร่วมมือกันในหลายภาคส่วน ผมจึงเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ

•จะตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ?
นโยบายสุขภาพที่ประกาศไว้ จะต้องนำสู่การปฏิบัติ แต่ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการผลักดันนโยบายแบบแยกส่วน ต่างฝ่ายต่างทำ ดังนั้น หากมีองค์กรที่เชื่อมหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องมากำหนดนโยบายเอกภาพ โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ดูว่าคน 1 คน ควรจะได้รับอะไรบ้าง และนำส่งปฏิบัติตามอำนาจของแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นการเชื่อมโยงขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จ อาทิ การใช้สิทธิบัตรทองใน รพ.นอกสังกัด สธ. ควรจะต้องเกิดขึ้น การส่งเสริมการมีบุตร ที่ สธ.มีอำนาจในการส่งเสริมมิติสุขภาพ แก้ไขการมีบุตรยาก และการสร้างอนามัยเจริญพันธุ์ที่ดี แต่ในมิติอื่นๆ เช่น สวัสดิการอุดหนุนเด็กแรกเกิด ด้านการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับภาคส่วนอื่นด้วย หรือในปัจจุบัน ที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังสุขภาพแข็งแรง ยังอยากทำงานหารายได้อยู่ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีรายได้ ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มเงินอุดหนุน จะต้องมีการทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อผลักดันเรื่องนี้ สธ.จะเป็นผู้ดูแลในมิติสุขภาพให้ผู้สูงอายุแข็งแรง สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง เรื่องนี้ได้นำเสนอต่อนายกฯ แล้ว คาดว่าจะมีการประชุมนัดแรกเพื่อลงรายละเอียดงานต่อไป

•แก้ปม Work Life Balance ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างไร?
ผมจะไม่พูด แต่จะทำให้เห็นและเกิดขึ้นจริง ซึ่งบุคลากรสาธารณสุข ต้องทำงานบนพื้นฐานชีวิตที่ดี สุขภาพคนทำงานต้องดีทั้งกาย ใจ สติปัญญา และมิติเชิงสังคมที่เขาอยู่ ดังนั้น จะต้องลงไปดูแลทั้งเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในวิชาชีพ และภาระงานต่างๆ จะต้องมีความรอบคอบ เพื่อให้ทำงานให้ดีที่สุด โดยจะดูไปถึงมิติการใช้ชีวิตของเขา ครอบครัวของเขา ที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ เราจะเข้าไปดูแลช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งเน้นย้ำเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพจะต้องเป็นธรรม ส่วนปัญหาชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปนั้น จะต้องเข้าไปดูไปตามกฎหมายที่กำหนด แต่งานการแพทย์บางอย่าง มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีเข้าไปทดแทนได้ ฉะนั้น เรื่องนี้ต้องเข้าไปดูเรื่องการทำงานล่วงเวลา จะต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิต และหากเขาเสียสละทำงานล่วงเวลา ก็จะต้องมีการพิจารณาการดูแลเขา

•นโยบายกัญชาทางการแพทย์ จะเป็นไปในทิศทางใด?
หลักการของผมและพรรคเพื่อไทย (พท.) ยืนยันส่งเสริมนโยบายกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ ส่วนการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการจะต้องถูกจำกัด เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกัน ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ยังคงกำหนดให้สารสกัดกัญชาที่มีปริมาณสาร THC มากกว่าร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติด ส่วนจะประกาศกำหนดให้ส่วนใดของกัญชาเป็นยาเสพติด จะต้องออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขภายใต้ความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งขณะนี้ประกาศกระทรวง กำหนดไว้เพียงสารสกัดที่มี THC มากกว่าร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติด ตรงนี้จึงมีช่องว่างอยู่เยอะ โดยปัญหาที่พบตอนนี้คือ การใช้ชิ้นส่วนกัญชาที่ออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีผลต่อจิตและประสาท นำมาใช้ในทางที่ผิด โดยเฉพาะช่อดอกกัญชาตากแห้ง มีปริมาณ THC มากกว่าร้อยละ 0.2 อยู่แล้ว หากนำมาแปรรูปเป็นการสูบเพื่อสันทนาการ ถือเป็นการใช้สารเสพติด ฉะนั้น กฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องไปดูรายละเอียดว่า นอกจากสารสกัดกัญชาแล้ว มีอย่างอื่นที่เป็นสารเสพติดด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ การควบคุมการใช้กัญชาจะต้องมี พ.ร.บ.มารองรับแน่นอน อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่ตกไปในรัฐบาลชุดที่แล้ว จะต้องมีการเสนอยกร่างใหม่ขึ้นมา ครั้งนี้จะต้องดูวัตถุประสงค์หลักและสิ่งที่ต้องการควบคุม ว่าอยู่ในระดับไหน อย่างไร

•บทบาทของ อสม.ในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?
ที่ผ่านมา ผมได้พบกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในบางพื้นที่แล้ว แม้จะไม่มีภาพออกสื่อมากนัก แต่ได้มอบแนวทางให้กับพี่น้อง อสม. ถึงบทบาทอาสาสมัครด้านสุขภาพ ฉะนั้น กรอบการทำงานจะต้องส่งเสริมพื้นที่ให้มีศักยภาพมากขึ้น ขณะที่ สวัสดิการที่ อสม.ได้รับตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิม ที่เพิ่มค่าป่วยการเป็น 2,000 บาทต่อเดือน ต้องผลักดันให้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ อสม.จะมีบทบาทสำคัญในมิติการให้บริการรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้า รพ.ได้ทุกแห่ง การใช้เทเลเมดิซีนที่มีการส่งยาถึงบ้าน รวมถึงการให้บริการโฮมวอร์ด (Home Ward) ที่เป็นการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ทั้งหมดนี้ อสม.จะถูกพัฒนาศักยภาพขึ้นมาเติมเต็มระบบ

•แผนรองรับสังคมผู้สูงวัยจะเป็นอย่างไร?
การดูแลผู้สูงอายุนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การเฝ้าระวังและดูแลภาวะเจ็บป่วย ในรูปแบบคลินิกผู้สูงอายุ จะให้บริการทั้งผู้ที่ร่างกายแข็งแรงและผู้ที่ป่วยแต่จะแบ่งพื้นที่ออกอย่างชัดเจน อย่างผู้สูงอายุ 1 คน จะต้องมาดูว่ามีสภาวะสุขภาพเป็นอย่างไร มีโรคประจำตัวอะไร มีอาการป่วยอย่างไร ทางคลินิกผู้สูงอายุก็จะต้องให้การดูแลอย่างเหมาะสม

•ในยุคของท่านจะมีภาพความขัดแย้งใน สธ.หรือไม่?
ไม่อยากใช้คำว่า ขัดแย้ง เนื่องจากกลไกการทำงานของบุคลากรสาธารณสุข คิดเป็น ทำเป็น ใช้ความรู้ ความสามารถในการขับเคลื่อนงานได้สูงมาก ฉะนั้น ความเห็นต่างย่อมเกิดขึ้นสูงมาก อะไรที่เป็นเชิงนโยบายที่ต้องมอบหมายงาน ล้วนมีความสำคัญ คน สธ.ไม่ชอบคำสั่งการ แต่ชอบการทำงานแบบมอบหมายงาน เพราะคนสามารถไปคิด ไปทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่เราคาดหวังได้ ฉะนั้น นโยบายต่างๆ ที่ออกไปนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำงาน และส่วนกลางจะสนับสนุนลงไป เพื่อลดข้อขัดแย้งต่างๆ นอกจากนั้น ยังต้องดูเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นธรรม

ต้องใส่ใจเข็มมุ่งในวิชาชีพของเขา เพื่อให้เขาได้รับความเป็นธรรม เพื่อลดความเห็นต่างที่อยู่บนเป้าหมายเดียวกันคือ ประชาชนสุขภาพดี องค์กรดี ก็ต้องนำความเห็นต่างมาคุยกัน ผมเชื่อว่าจะไม่มีความขัดแย้ง แต่จะต้องคงความเห็นต่างไว้ ไม่อย่างนั้นจะไม่พัฒนา ต้องสามารถถกเถียงได้ แลกเปลี่ยนความเห็นต่างได้ แม้จะเป็นระบบราชการที่มีแบบแผนการสั่งการแต่มุมการทำงานต้องเปิดช่องตรงนี้พอสมควร ผมผ่านมิติการเป็นแพทย์ชนบท การเป็นแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ผ่านการเป็นผู้บริหารระดับปฏิบัติ ผ่านมิติทางการเมืองมา ก็จะพยายามลดข้อจำกัดนี้ให้มากที่สุด ฉะนั้นความปรองดอง ความรัก ความสามัคคีที่คนมีใจให้กระทรวงอยู่แล้ว ผมเชื่อว่าทำได้

•ต่อจากนี้อีก4ปี สธ.จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? 
ผมตั้งเข็มมุ่งให้ สธ.เป็นกระทรวงแกนหลักในการขับเคลื่อนให้ประชาชนสุขภาพดี ประเทศไทยสุขภาพดี เพื่อให้สามารถบอกชาวโลกได้ว่า สุขภาพดีอย่างไร ตามตัวชี้วัดขององค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อตกลงร่วมกัน เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ส่วนเข็มมุ่งต่อไปคือ การให้มิติทางสุขภาพเป็นการสร้างเศรษฐกิจให้มั่งคั่งให้แก่ประเทศผ่านการเป็นเมดิคัล ฮับ 4 ด้าน ได้แก่ 1.Wellness Hub: ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 2.Medical Service Hub: ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ 3.Academic Hub: ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย และ 4.Product Hub: ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ถ้าถามถึงคติในการทำงาน ผมเป็นคนไม่ได้คิดอะไรแบบนี้ เพราะเข็มมุ่งในการทำงาน อยู่ที่คนที่ได้รับผลสัมฤทธิ์จากการทำงานของเรา ไม่ได้อยู่ที่ตัวเรา เราได้อะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เคยคิดที่จะทำเพื่อตัวเอง แต่มีเข็มมุ่งที่เป็นเป้าหมาย ให้ภาระที่