จิปาถะ

กรมพัฒนาธุรกิจฯ หนุนร้านค้าปลีกท้องถิ่น เร่งติว 2,000 ราย ดันเป็นสมาร์ทโชห่วย


22 กันยายน 2566

กรมพัฒนาธุรกิจฯเสริมแกร่งร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปี 67 ปั้น30 ร้านต้นแบบ เร่งติว 2,000 ราย ดันเป็นสมาร์ทโชห่วย

กรมพัฒนาธุรกิจ.jpg

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมตั้งเป้าที่จะเดินหน้าส่งเสริมร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นระดับอำเภอและจังหวัดที่เป็นนิติบุคคลและมียอดขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ถือเป็นผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานแข็งแรง สามารถยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการตามแนวทางของกรม และพัฒนาสู่การเป็น “ร้านค้าต้นแบบ” ได้ โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ที่สนใจพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบจำนวน 30 ร้านค้า ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

โดยแนวทางการพัฒนาจะเริ่มตั้งแต่การเสริมสร้างองค์ความรู้ การศึกษาดูงานร้านต้นแบบรุ่นพี่ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจ ตลอดจนการลงพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำในเชิงลึกที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจได้ตรงจุด ทั้งประเด็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงเร่งด่วน รวมถึงการเสริมจุดแข็งให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาร้านค้าปลีกรายย่อย หรือโชห่วย ให้มีความเข้มแข็ง เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาร้านค้าโชห่วย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโมเดลธุรกิจของห้างโมเดิร์นเทรดที่ปรับตัวย่อขนาดเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีภาพลักษณ์ดีและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขยายตัวออกสู่ชุมชน รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากเทคโนโลยี จึงต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับโชห่วย โดยกำหนดจัดสัมมนาออนไซต์ใน 4 ภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ พัฒนาโชห่วยไทยทั่วประเทศให้เป็น “สมาร์ทโชห่วย” โดยมีร้านค้าต้นแบบเข้ามาช่วยเหลือ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือร้านโชห่วย จะเน้นการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5 ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) เพื่อช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้าน เพิ่มโอกาสในการขายสินค้า และส่งเสริมการใช้ระบบ POS เพื่อผลักดันให้ร้านค้าโชห่วยปรับเปลี่ยนจากวิถีเดิมสู่การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยในปี 2567 ตั้งเป้าจัดสัมมนาออนไซต์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ 4 ภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรวมทั้งสิ้น 2,000 ราย และพัฒนาต่อยอดเป็น “สมาร์ทโชห่วย” ต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 20 ราย

ปัจจุบัน มีร้านค้าส่งค้าปลีก ที่ได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าต้นแบบ รวม 307 ร้านค้า และมีร้านโชห่วยที่ผ่านการพัฒนา และได้รับป้ายสัญลักษณ์โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส จำนวน 306 ร้านค้า

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_4192767