Smart Investment

รีดภาษีขายหุ้น! ได้ไม่คุ้มเสีย กดดันตลาดหุ้นไทยหมดเสน่ห์


09 ธันวาคม 2565

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พ.ย. เห็นชอบการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอัตรา 0.10% ตามหลักการที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยในปีแรกจะจัดเก็บเพียงครึ่งหนึ่งหรือในอัตรา 0.055% โดยจะออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะและกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ ฉบับที่.. พ.ศ. ....และจะจัดเก็บเมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เผยบทวิเคราะห์ประเมิน 5 ผลกระทบ หากรัฐบาลมีการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นในปี 2566 จะส่งผลต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นดังนี้ 1.ภาระค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นสูงขึ้นถึง 64% ของค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันธุรกิจโบรกเกอร์ มีค่า Comm. เฉลี่ย 0.086% หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น 0.11% (ซึ่งเป็นอัตราการเรียกเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ก่อนค่า Comm. สูงกว่าปัจจุบันมาก) ทำให้นักลงทุนมีภาระค่า Comm. สูงขึ้นถึง 64%

2. ช่วงเวลาในการขึ้นภาษีเป็นช่วงดอกเบี้ยขึ้น ตามกลไกช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น กดดันระดับ P/E ในการซื้อขายจะถูกลดทอนอยู่แล้ว หากขึ้นภาษีจะตอกย้ำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอีก

3. ช่วงเวลาในการเก็บภาษีปีหน้าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ช่วง Recession หากมีการขึ้นภาษีเวลานี้ จะทำให้เสน่ห์ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยลง

4. นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้รับภาระค่า Comm. สูงกว่านักลงทุนในประเทศ เนื่องจากต่างชาติซื้อขายหุ้นไทย ปี 2022 คิดเฉลี่ยต่อปี 8.40 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย NVDR เพียง 28.2% คิดเป็นมูลค่าตลาด 5.58 ล้านล้านบาท แสดงว่ามี Turnover ในการซื้อขายสูงถึง 150% ต่างกับนักลงทุนไทยทั้งหมดซื้อขายหุ้นไทย สูงกว่าต่างชาติเล็กน้อย 9.12 ล้านล้านบาท แต่มีสัดส่วนการถือครองหุ้นไทย สูงถึง 71.8% หรือ 14.2 ล้านล้านบาท

5. สถิติปี 2011-2022 (12 ปี) ชี้ให้เห็นว่าผลตอบแทนเฉลี่ยตลาดหุ้นไทยมักไม่ดีในช่วงที่สภาพคล่องซื้อขายต่ำ สะท้อนได้จากข้อมูล Histogram Turnover ของ SET 2011-2022 เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยรายวัน พบว่า เวลาที่มูลค่าซื้อขายสูงกว่า 18D ตลาดหุ้นมีโอกาสให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 18.3% แต่ถ้ามูลค่าซื้อขายอยู่ในระดับปกติ (ช่วง -1SD ถึง 18D) ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะลดหลั่นลงมาเหลือ 5.6% ต่อปี

แต่เวลาที่มูลค่าซื้อขายต่ำกว่า 1SD (Turnover 59.7% ต่อปี) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -2.9% ดังนั้นภายใต้มูลค่าซื้อขายที่มีโอกาสลดลงในอนาคต จึงอาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นหรือผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้ลดลง

นอกเหนือจากมุมมองของโบรกเกอร์แล้ว...เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.65 ที่ผ่านมา นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ " ระบุว่า #ภาษีขายหุ้นที่จะได้ไม่คุ้มเสีย ในขณะที่ตลาดหุ้นทั้งในไทยและในต่างประเทศ ยังตกลงต่อเนื่องจากความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก การเก็บภาษีหุ้นจึงไม่เหมาะสม และได้ไม่คุ้มเสีย โดยยก 7 เหตุผล ดังนี้

1. ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงหนักจากเงินเฟ้อและปัญหาเศรษฐกิจ

2. ภาษีขายหุ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง โดยกระทบนักลงทุนทุกประเภท รวมทั้งรายย่อยที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่านกองทุนรวม และนักลงทุนต่างประเทศ

3. สภาพคล่องที่ลดลงจะส่งผลต่อผลประกอบการของทั้งอุตสาหกรรม และส่งผลต่อเม็ดเงินที่บริษัทใน real sector จะสามารถระดมทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพื่อนำไปใช้ในการขยายกิจการ

4. Market Maker หรือ ผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อนวัตกรรมของตลาดทุนไทย ทำให้เราแข่งขันกับตลาดทุนอื่นได้ยากขึ้น

5. อัตรา 0.1% สูงพอๆกับที่ทั้งอุตสาหกรรม (โบรก ตลท ก.ล.ต.) จัดเก็บอยู่แล้วในรูปของค่าธรรมเนียมต่างๆ

6.มีการเก็บภาษีอื่นจากการขายหุ้นอยู่แล้ว ทุกการซื้อขายหุ้น มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) และภาษีรายได้จากเงินปันผล ภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการซื้อขายหุ้น

7.ที่ผ่านมา ตลาดทุนได้ทำหน้าที่สนับสนุนนโยบายรัฐบาล เช่น การให้ความรู้ทางการเงิน การส่งเสริมให้ SME เข้ามาระดมทุน การจ้างงาน การเสียภาษีของอุตสาหกรรม

นางนฤมล มองว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากจะเป็นแหล่งระดมเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการแล้ว ยังทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลนำส่งรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของบริษัทเอกชนที่เสียภาษีในประเทศไทย และยังทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทย มาเป็นเวลากว่า 48 ปี

รายได้ภาษีขายหุ้นที่รัฐคาดว่าจะได้รับประมาณ 1.6-2 หมื่นล้าน จะไม่คุ้มค่ากับผลลบที่จะเกิดกับตลาดทุน แหล่งระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเติบโตเป็นฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของประเทศ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของบรรดานักลงทุนรายย่อย วานนี้ (8 ธ.ค.) ประกาศรวมใจกันหยุดซื้อ-ขาย 1 วัน เพื่อสะท้อนถึงความเห็นต่างกรณีเก็บภาษีขายหุ้น กดดันมูลค่าการซื้อขายหุ้นอยู่ในระดับเบาบางเพียง 42,657.31 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นักลงทุนรายย่อยยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิมูลค่า 2,085.62 ล้านบาท

เสียงสะท้อน นักลงทุนรายย่อย โบรกเกอร์ อดีตรัฐมนตรี คงได้แต่ลอยตามลม เมื่อกระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าต่อจัดเก็บภาษีขายหุ้น!