Fund / Insurance

บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประกาศแผน Quick Win 5 ข้อ ขับเคลื่อนธุรกิจประกัน


12 กรกฎาคม 2566
บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทยชุดใหม่ พลิกโฉมสมาคมฯ สู่ "Modernization of TGIA" เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ ประกาศแผน Quick Win 5 ข้อ ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทย  ผลักดันสมาคมฯ ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่ทันสมัย (Modernization of TGIA) เน้นความเป็นมืออาชีพ

บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทย.jpg

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า แผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ ปี 2566-2568 คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มุ่งเน้นไปที่พันธกิจหลัก 4 ด้าน พร้อมทั้งได้มีการกำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ดังนี้
พันธกิจที่ 1: ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

พันธกิจที่ 2: ยกระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและเอกชน โดยมีกรอบและทิศทางการดำเนินการ 

พันธกิจที่ 3: พัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล 
พันธกิจที่ 4: เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการเร่งรัด หรือ Quick Win ในการขับเคลื่อนตามกรอบและทิศทางของแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ ได้แก่
 1. การควบรวมสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (Insurance Premium Rating Bureau: IPRB) และ บริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จำกัด (Thai Insurers Datanet Co., Ltd.: TID) เข้าด้วยกัน โดยการรวม 2 หน่วยงานดังกล่าวให้เป็นหน่วยงานเดียวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น 

2. การสนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย และการเปิดเสรีธุรกิจประกันวินาศภัยในบางมิติ เช่น การเปิดเสรีด้านค่าคอมมิชชันของตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย และอัตราเบี้ยประกันภัย  นอกจากนี้ ในส่วนของการออกกรมธรรม์ใหม่ ๆ สมาคมฯ ก็จะขอความสนับสนุนและความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ให้บริษัทประกันภัยสามารถออกกรมธรรม์ได้โดยไม่ต้องใช้ระยะเวลานานเกินไป ภายใต้เกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนดรายละเอียดไว้ในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ ด้วย

3. การสนับสนุนและร่วมมือในการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) กับสำนักงาน คปภ. 
 4. การควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี รวมถึงหาแนวทางในการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย 
5. การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยในเชิงรุก โดยในเรื่องนี้สมาคมฯ จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัยของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ นั้นมีคณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ รวม 8 สาขา ที่ร่วมในการกำหนดแผนงานและพร้อมปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสมาคมฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็น win-win situation ซึ่งได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน สังคม หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทสมาชิก