จับประเด็นหุ้นเด่น

รายงานพิเศษ : LEO เดินหน้า M&A ดัน GPM แตะ 15-20%


11 กรกฎาคม 2566
บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์   (LEO) เดินหน้ากลยุทธ์ M&A  หวังเพิ่มศักยภาพของธุรกิจและ สร้างรายได้เติบโตก้าวกระโดดในอีก 2-3ปี ข้างหน้า หนุนอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เติบโต 15-20%  

รายงานพิเศษ LEO.jpg

PwC ประเทศไทย ระบุ ว่าในรายงาน Global M&A Industry Trends: 2023 Outlook  คาดว่า ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการทั่วโลกในปี 2565  ปรับตัวลดลง 17% และ 37% จากปี 2564 ที่ปริมาณการควบรวมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยจำนวนดีลมากกว่า 65,000 ดีล  (คิดเป็นมูลค่า 5,268 พันล้านสหรัฐ) 


เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค รวมไปถึงความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราดอกเบี้ยสูง การประเมินมูลค่าหุ้นที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น เช่นเดียวกับปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ปรับตัวลดลง 23% และ 33% ในช่วงระหว่างปี 2564 ถึง 2565


นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีปริมาณและมูลค่ากิจกรรมการควบรวมปรับตัวลดลงมากที่สุดที่ 46% และ 35% ตามลำดับ สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์ของการส่งออกที่ลดลง ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการขยายตลาดเข้าสู่เอเชียจึงมองหาโอกาสการลงทุนในตลาดอื่น ๆ แทนไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในปี 2565 ปริมาณการควบรวมกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีจำนวนทั้งสิ้น 16,238 ดีลส์ (เปรียบเทียบกับ 21,166 ดีลส์ในปี 2564) ขณะที่มูลค่าการควบรวมอยู่ที่ 826 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เปรียบเทียบกับ 1,233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564)
ด้านนางสาว ฉันทนุช  โชติกพนิช  หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย  กล่าวว่า ตลาดการควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) ของไทยมีแนวโน้มที่จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 หลังปริมาณและมูลค่าการควบรวมเห็นการชะลอตัวในปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับปี 2564 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้กิจกรรมการทำดีลโดยรวมต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ดีเชื่อว่า กิจกรรมการควบรวมในปีนี้จะไม่สูงเท่ากับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2564


ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับการดำเนินงานของ บริษัท ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์   (LEO)  ผู้ให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก  และให้บริการสนับสนุนการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร  โดยนายเกตติวิทย์  สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  LEO  คาดผลงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง  จากอัตราค่าระวางที่ปรับเพิ่มขึ้นและตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของประเทศไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วใน Q1/66  ซึ่งจะทำให้ผลงานครึ่งปีหลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ


ทั้งนี้ในปี 66 บริษัทตั้งเป้าอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) เติบโต 15-20%  และเตรียมปิดดีล M&A ประมาณ  1-2 ดีล ภายใน Q4/66 นี้   ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจเคมิคอลส์  ซึ่งคาดใช้งบลงทุนราว 150 ล้านบาท  จากงบลงทุนรวมปีนี้ที่ 800-1,000 ล้านบาท  ส่วนอีก 1 ดีลบริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจา  ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพของธุรกิจและรายได้เติบโตก้าวกระโดดในอีก2-3ปีข้างหน้า

สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ บริษัทฯได้แต่งตั้ง บริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส  เอบีเอเอส จำกัด (PwC) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) เพื่อให้ความเห็น (Due Diligence) เกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพราะมั่นใจว่า PwC เป็นหนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีความน่าเชื่อ  โดยการมารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการเข้าซื้อกิจการ (M&A)บริษัทที่เป็นTarget Companyซึ่งเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้าน Chemical Logistics  ที่มีการดำเนินการทางธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ จีน และฮ่องกง  และบริษัทดังกล่าวมีรายได้ปีละประมาณ 500-600  ล้านบาท โดยLEOมีเป้าหมายที่จะเข้าซื้อกิจการในอัตราส่วนไม่ต่ำกว่า 35 %  
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566  บริษัทฯตั้งเป้าหมาย เน้นลงทุนธุรกิจใหม่ที่เป็นNon Freight  มีกำไรขั้นต้นสูงถึง40-45%โดยจะเริ่มรับรู้รายได้และกำไร จากโครงการJV และ M&Aใหม่ๆ ที่เป็นทั้งการให้บริการFreight , Non FreightและNew Businessในหลายๆ โครงการ เช่น การให้บริการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนโดยรถบรรทุกและรถไฟผ่านเส้นทางรถไฟ ลาว  จีน,การให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิสำหรับขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน,การให้บริการลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Depot)แห่งที่2


และการพัฒนาธุรกิจ Cold Chain Logisticsที่บริษัท สหไทย เทอร์มินัล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือเชิงกลยุทธ์แล้ว,การเปิดบริการ Self Storage ที่ถนนพระราม4,การพัฒนาธุรกิจตัวแทนในการซื้อสินค้าจากประเทศไทย เพื่อส่งให้กับผู้ซื้อในประเทศจีน ภายใต้ชื่อ บริษัท  LEO Sourcing & Supply Chainปัจจุบันมีคำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นทุเรียนและผลไม้อื่นๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก
LEO