กระดานข่าว

เคทีซี ต่อยอดองค์กรแห่งการเรียนรู้สร้างวัฒนธรรม "โค้ชชิ่ง" ดันศักยภาพคน สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน


14 กรกฎาคม 2568

ในโลกการทำงานยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรต่างมองหา แนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ที่ไม่เพียงตอบโจทย์แค่ "ทำงานเป็น" แต่ต้อง "คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น และเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง" เคทีซีเร่งต่อยอดองค์กรแห่งการเรียนรู้ นำการโค้ชชิ่ง (Coaching) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานทุกระดับอย่างเต็มที่ เพื่อค้นพบศักยภาพของบุคคลจากภายใน (Self-Discovery) สร้างความเป็นเจ้าของเป้าหมายในการทำงาน (Accountability) และพร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกับองค์กร

KTC.jpg

จากการสอนงาน...สู่การโค้ชแบบมีระบบ

ปกติการพัฒนาคนในองค์กรจะเริ่มต้นจากการสอนงาน (On-the-Job Training) ซึ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้และทักษะในการทำงานให้กับพนักงานรายบุคคล แต่เคทีซีเชื่อว่าในบริบทการทำงานที่ซับซ้อนในปัจจุบัน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรต้องก้าวไปไกลกว่านั้น นิยามการโค้ชของ International Coach Federation (ICF) หมายถึง การร่วมมือกันในรูปแบบหุ้นส่วน (Partnership) ระหว่างโค้ช (Coach) และผู้รับการโค้ช (Coachee) เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจในการเพิ่มศักยภาพส่วนบุคคลและวิชาชีพสูงสุด โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้บุคคลสามารถกำหนดเป้าหมาย และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

การโค้ชชิ่งจึงถูกนำมาปรับใช้ในกระบวนการทำงานจริงของหัวหน้างานและผู้บริหารทุกระดับ โดยหัวหน้างานจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้ชี้แนะแนวทาง มาเป็น "โค้ช" ผู้กระตุ้นให้พนักงานได้คิด วิเคราะห์ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ผ่านคำถามทรงพลัง (Powerful Questions) การฟังเชิงลึก (Active Listening) และการให้ Feedback อย่างสร้างสรรค์ (Constructive Feedback)

"โค้ชชิ่ง" ที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร

 เคทีซีไม่เพียงนำการโค้ชชิ่งมาเป็นเครื่องมือพัฒนาบุคลากรรายบุคคล แต่ได้นำแนวคิดนี้มาปรับใช้เป็นวัฒนธรรมองค์กร (Coaching Culture) ผ่านหลากหลายกิจกรรม อาทิ การฝึกอบรมทักษะ โค้ชชิ่ง ให้กับหัวหน้างานทุกระดับ  การออกแบบระบบโค้ชชิ่งภายในหน่วยงานและทีมงาน  การสะท้อนผลการทำงาน (Reflection) และการเรียนรู้ร่วมกันในทุกเวทีของการประชุมงาน รวมถึงการสื่อสารให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงบทบาทของตนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของกระบวนการโค้ชในเคทีซี คือ การสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ (Trust) การเคารพศักยภาพของพนักงานแต่ละคน (Respect Individual Potential) การกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นคำตอบด้วยตนเอง (Empowerment) และการเสริมสร้างความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเอง (Ownership & Accountability) เพื่อผลิตบุคลากรที่เป็นทั้งคนเก่ง-คนดี-คนกล้าคิด ซึ่งจะเป็นสารตั้งต้นในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกเคทีซีได้ในทุกมิติอย่างยั่งยืน เราภูมิใจที่มีโค้ชได้รับการรับรองจาก ICF อยู่ในองค์กร ซึ่งพร้อมสนับสนุนเพื่อนร่วมงานในทุกสายงานผ่านบทสนทนาเชิงโค้ชที่ทรงพลัง การโค้ชจึงไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบุคคลเท่านั้น แต่เป็นพันธะร่วมของทุกคนในการนำไปใช้พัฒนา และเติบโตไปด้วยกัน”