กระดานข่าว

นโยบาย-ข้อกำหนดการค้าโลกหนุนบรรจุภัณฑ์กระดาษโต ด้าน อินฟอร์มา จับมือพันธมิตรนานาชาติและไทยจัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2025 นำผู้ประกอบการพัฒนาการผลิต


21 พฤษภาคม 2568

K.กชสร.jpg

นางสาวกชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ผู้จัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2025 กล่าวถึงทิศทางของตลาดบรรจุภัณฑ์ว่า บรรจุภัณฑ์กระดาษไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัย Krungthai Compass คาดการว่าการขยายตัวในปี 2568-2569 จะอยู่ที่ 3.6% และ 4.2% ตามการฟื้นตัวด้านการค้าและการบริโภคในประเทศ ความต้องการบรรจุภัณฑ์กระดาษที่เพิ่มขึ้นมาจากภาคค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงการเติบโตของ E-Commerce ส่วนการส่งออกบรรจุภัณฑ์กระดาษปี 2568-2569 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.2% และ 1.2% ด้านตลาดส่งออกหลังยังเป็นอาเซียนมีสัดส่วน 65% โดยเฉพาะกลุ่มกระดาษลูกฟูก ซึ่งนำไปผลิตกล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องกระดาษเพื่อการขายปลีกและขนส่ง ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบนั้น มีทั้งมาตรการด้านภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อการค้าโลก ความไม่แน่นอนทางเศรฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนการผลิตและการแข่งขันที่สูงขึ้น

ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับโลกและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งหลายประเทศมีนโยบายและข้อกำหนดผลิตภัณฑ์ที่เข้มงวดขึ้น เช่น EU Single-Use Plastics Directive ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว EU PPWR (Packaging & Packaging Waste Regulation) ข้อกำหนดด้านการรีไซเคิลและการใช้วัสดุย่อยสลายได้ การกำหนดว่าบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาด EU ต้องรีไซเคิลได้ภายในปี 2030 การติดฉลากรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการรีไซเคิลและแหล่งที่มาของวัสดุ การควบคุมการใช้วัตถุดิบจากป่าไม้ EUDR (EU Deforestation Regulation) ฯลฯ นโยบายและข้อกำหนดดังกล่าวส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้น

ดังนั้นการจัดงาน ASEAN Paper Bangkok 2025 จึงมีแนวคิดการจัดงานที่สอดคล้องกับแนวโน้มของอุตสาหกรรม ด้วยการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมกระดาษที่ยั่งยืน (Carbon-Neutral Pathways to Sustainable Paper industry Ecosystem) โดยผลักดันให้ทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง "ลด" และ "ชดเชย" (lower & offset) การปล่อยคาร์บอนจนเป็นกลาง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่และรับกับข้อกำหนดหรือกฎระเบียบใหม่ของโลก โดยการปรับตัวทำได้ทั้งปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ยั่งยืน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในระยะยาว การนำแนวคิด ESG มาใช้ การมีเป้าหมายและการดำเนินงานที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Paper Packaging) โดยผลิตจากกระดาษที่ได้จากการรีไซเคิล การใช้ซ้ำ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ (3R)

ส่วนการจัดแสดงภายในงานฯ นอกจากจะมีการจัดแสดงการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการผลิตแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้านวัสดุการผลิตกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากร การสร้างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ อาทิ การพัฒนากระดาษให้เป็นวัสดุที่ทนทานใช้งานได้หลากหลาย บรรจุภัณฑ์กระดาษที่ใช้แทนพลาสติก ซึ่งจะมีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมฯ เข้ามาร่วมจัดแสดงในงานกว่า 200 แบรนด์ นอกจากนั้นยังมีการจัดเวทีการประชุมและสัมมนาที่น่าสนใจจากวิทยกร และผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ที่จะมานำเสนอ ทั้งภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบันในอุตสาหกรรมกระดาษ บรรจุภัณฑ์และทิชชู่ในประเทศกลุ่มอาเซียน ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดในภูมิภาค ความท้าทายหลักและโอกาสในการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม การเจาะลึกถึงความก้าวหน้าของนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุดของอุตสาหกรรมและการผลิตกระดาษ การดำเนินการและการพัฒนาสู่ความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่กำลังกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรม และการสำรวจแนวทางแก้ไขทางเทคนิคเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการคำนวณเครดิตคาร์บอนและการคำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprints) รวมถึงการจัดการกับความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

นายจ่อ มิน ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษแห่งภูมิภาคอาเซียน (FAPPI) และ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษเมียนมา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษว่า สิ่งที่ต้องติดตามมีตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กระดาษเพื่อทดแทนพลาสติก เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายได้ แก้วกระดาษและวัสดุชีวภาพ ที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและกฎระเบียบการค้าโลก การปรับตัวของโรงงานที่ใช้พลังงานสะอาดและกระบวนการที่มีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม การนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI และ IoT มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดของเสียและเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบ รวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ ที่ได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce และโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก

อีกสิ่งสำคัญที่มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมากขึ้น คือ ความยั่งยืนและบทบาทต่อสิ่งแวดล้อม โดยอุตสาหกรรมกระดาษจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากผลิตภัณฑ์กระดาษเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาไมโครพลาสติกและตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจในความรับผิดชอบของแบรนด์ ซึ่งทางสมาคมฯ ให้การสนับสนุนต่อแนวทางและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด รวมถึงยังเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นกับการจัดงาน Asean Paper Bangkok ที่มีแนวคิดในการจัดงานฯ​ สอดคล้องกับเป้าหมายของสมาคมฯ โดยงาน Asean Paper Bangkok 2025 ถือเป็นงานสำคัญของคนในอุตสาหกรรมกระดาษ ที่นอกจากจะมีการจัดแสดงสินค้า เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังเป็นเวทีในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ ส่งเสริมนวัตกรรมและเร่งการพัฒนาที่ยั่งยืนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมกระดาษอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร. พิชิต สมบูรณ์ สาขาเทคโนโลยีเยื่อและกระดาษ ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษโลกว่า สถานการณ์โดยรวมยังถือว่าค่อนข้างผันผวน ในช่วงสถานการณ์โรคโควิดมีปริมาณการใช้กระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษเพิ่มขึ้นซึ่งมีเชิงบวกมาจากการซื้อขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานที่ผลิตเยื่อรีไซเคิลและกระดาษบรรจุภัณฑ์มีการวางแผนการสร้างไลน์ผลิตใหม่ แต่หลังจากสถานการณ์โรคโควิดคลี่คลาย เศรษฐกิจโลกก็เผชิญกับปัญหาซบเซา จากหลายปัญหาทั้งสงคราม ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบในทางลบทำให้ปริมาณการใช้กระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษต่างๆ ไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาด ส่วนอุตสาหกรรมผลิตกระดาษในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ด้านสัดส่วนของผลิตภัณฑ์กระดาษนั้น กลุ่มบรรจุภัณฑ์และกระดาษแข็งมีสัดส่วนการผลิตถึงมากกว่า 70% กลุ่มการพิมพ์เขียนประมาณ 20% และกลุ่มกระดาษอนามัยและอื่นๆ ประมาณ 10%

ส่วนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีกระบวนการบริหารจัดการทางด้านวัตถุดิบและการผลิตนั้น มีแนวโน้มการนำระบบ  AI, IoT, Big Data และระบบ Automation มาใช้มากขึ้น จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากงานวิจัยด้านระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษจากต่างประเทศพบว่า หากคำนวนค่าการดูดซับและการปล่อยออกคาร์บอนของอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษจะเห็นว่าเป็น BCG Model แบบ 100% ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สามารถทำให้เกิดสมดุลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) เพราะการใช้ไม้ในอุตสาหกรรมปัจจุบันเป็นไม้ที่ได้จากการปลูกป่าเศรษฐกิจและมีการใช้พืชทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยวัตถุดิบเหล่านี้ช่วยดูดซับคาร์บอน ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตจะต้องมีระบบกำจัดของเสียและทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยมลพิษให้อยู่ในระดับมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ

สำหรับการร่วมงานกับ Asean Paper Bangkok 2025 นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นเวทีที่จะได้นำเสนองานวิชาการและงานวิจัย ที่น่าสนใจนำมาขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมฯ ซึ่งภายในงานฯ ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการจัดแสดงงานวิจัย งานบริการวิชาการแก่ภาคอุตสาหกรรม การฝึกอบรม Up-skill, Reskill และร่วมจัดการสัมมนาในหัวข้อ BCG Economy Model and Business Opportunities in Mechanical Pulp จึงอยากเชิญชวนให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมและผู้สนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และเยี่ยมชมงานฯ ในครั้งนี้

สำหรับงาน ASEAN Paper Bangkok 2025 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายน 2568 ณ ภิรัชฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยจัดขึ้นพร้อมกันกับงาน ProPak Asia 2025 ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.aseanpaperbangkok.com และลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าได้ที่ https://bit.ly/3DRGIJL