จิปาถะ

เปิดข้อกฎหมายต้องรู้ อะไรควรทำ - ไม่ควรทำ “สงกรานต์ 2567”


11 เมษายน 2567

เตือนแล้วนะ! เปิดข้อกฎหมายต้องรู้ อะไรควรทำ – ไม่ควรทำ ในเทศกาล “วันสงกรานต์ 2567” หากไม่อยากโดนโทษปรับ – จำคุก มีอะไรบ้างเช็กได้เลยที่นี่

เปิดข้อกฎหมายต้องรู้.jpg

เข้าสู่เทศกาล “วันสงกรานต์” หลายคนเดินทางกลับบ้าน วางแผนเที่ยว หรือบ้างก็เตรียมตัวไปเล่นน้ำ แม้จะเป็นเทศกาลแห่งความสนุก

แต่หากประมาท หรือเล่นไม่เหมาะสมเกินลิมิต ก็กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เสี่ยงคุก โดนปรับอ่วมได้

งานนี้ทางทีมข่าวสดออนไลน์ ได้รวบรวมพฤติกรรมเสี่ยงผิดกฎหมาย เตือนไว้จะได้ไม่พลาดทำผิดกัน ดังนี้

กฎหมาย “จราจร”

•ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่-เล่นน้ำ

ตามกฎหมายโทษข้อหาเมาแล้วขับ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่ต่ำกว่า 6 เดือน หรืออาจเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

โทษเมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ – เสียชีวิต ยังแบ่งได้อีกหลายอัตราโทษ

-เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ : จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ

-เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส : จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-120,000 บาท ระงับใบอนุญาตขับรถไม่น้อยกว่า 2 ปี

-เมาแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย : จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

• ขับรถเร็วกว่ากำหนด

ความเร็วสูงสุดที่กฎหมายกำหนดในเขตเมืองจะอยู่ที่ 80 กม./ชม. และนอกเมืองอยู่ที่ 90 กม./ชม. แต่อาจมีการอนุโลมในถนนบางสาย ให้สามารถใช้ความเร็วเกินกว่านั้นได้ หากฝ่าฝืนมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

• จอดรถในที่ห้ามจอด

มีความผิดตามกฎหมาย อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

• คนขี่รถมอเตอร์ไซค์ ไม่สวมหมวกกันน็อค

อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

• คนซ้อนรถมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค

อัตราโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ส่วนคนขับขี่จะโดนปรับ 2 เท่าคือไม่เกิน 1,000 บาท

• ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ

การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่โดยไม่ผิดกฎหมาย จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม เช่น หูฟังบลูทูธ สมอลทอล์ค และต้องมีที่ยึดจับโทรศัพท์ เพื่อความปลอดภัย หากฝ่าฝืนมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

• ขาดต่อภาษีประจำปี

การเสียภาษีประจำปี เป็นสิ่งที่เจ้าของรถต้องดำเนินการทุกปีควบคู่กับการต่อ พ.ร.บ.รถยนต์ หากขาดการต่อภาษี แล้วตำรวจเรียกตรวจจะถูกเรียกปรับทันที มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

• ขาดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

หากถูกตำรวจเรียกตรวจ ผู้เป็นเจ้าของรถจะต้องแสดงหลักฐาน ในกรณีที่ไม่มีหลักฐาน หรือพบว่าขาดการต่อ พ.ร.บ. จะมีอันตราโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และที่สำคัญคือเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.อีกด้วย

กฎหมาย “เล่นน้ำสงกรานต์”

• แต่งตัวโป๊เปลือย

หากใครกระทำการอันควรให้ขายหน้าต่อธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

• กระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ

หากกระทำการในลักษณะคุกคามทางเพศ อาจมีความผิดฐานอนาจารด้วย มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท

• ประแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม

หากประแป้งโดยผู้อื่นไม่ยินยอม โดยทำให้ผู้อื่นขายหน้า โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

•ทะเลาะวิวาท – ทำร้ายร่างกาย

หากทำร้ายร่างกายแล้วทรัพย์สินเสียหาย เข้าข่ายทำให้เสียทรัพย์ โทษจำคุก 3 ปี ปรับ 60,000 บาท
ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-ทำให้ผู้อื่นฟกช้ำดำเขียว มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

-ทำให้ผู้อื่นเลือดตกยางออก มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

-ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส มีโทษจำคุก 6 เดือน-10 ปี และปรับ 10,000-200,000 บาท

-ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุก 3-15 ปี

• สาดน้ำใส่ผู้อื่น

หากสาดน้ำใส่ผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

• นั่งท้ายกระบะ ไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

หากนั่งท้ายกระบะเกิน 6 คน หรือ Space Cab เกิน 3 คน – ยืนโดยสาร หรือนั่งริมขอบกระบะ และ ขับรถเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

กฎหมาย “แอลกอฮอล์”

• ดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่กฎหมายห้าม

ดื่มในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัด ปั๊ม สวนสาธารณะ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

• โพสต์ยี่ห้อแอลกอฮอล์

โพสต์ภาพที่ติดยี่ห้อแอลกอฮอล์ ทั้งที่ไม่เป็นการเชิญชวน หรือมีการชักชวน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

• ขายเครื่องดื่มให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี / คนมีอาการเมาไม่ได้สติ

ถ้าขายเครื่องดื่มให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี หรือคนมีอาการเมาครองสติไม่ได้ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท

• ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลา

ขายเครื่องดื่มนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 11.00-14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท

• สายติ๊ดเปิดเพลงเสียงดังเกินกำหนด

ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ถ้าขับรถแล้วเปิดเพลงเสียงดังไปด้วย สร้างความรำคาญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ทำให้ผู้อื่นเสียสมาธิในการขับรถ โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติจราจรทางบก, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ