News Today

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่และ SME ปีนี้โต 2-3% ชู 4 กลยุทธ์ตอกย้ำเป็นพันธมิตรหนุนเปลี่ยนผ่านสู่ Green


04 เมษายน 2567

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเติบโต 2-3% จากปีก่อน พร้อมตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 15%  ชู 4 แผนกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจปี 67 ตอกย้ำเป็นพันธมิตร หนุนเปลี่ยนผ่านสู่ Green-ยกระดับดิจิทัลโชลูชัน

TTB ตั้งเป้าสินเชื่อ.jpg

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต (TTB)  ระบุ ปีนี้ทีทีบีตั้งเป้าสินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอีเติบโต 2-3% จากปีก่อน พร้อมตั้งเป้ารายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 15%  โดยเดินหน้า LEAD the CHANGE for Financial Well-being of SME and Corporate Customers เป็นผู้นำในการสร้างโซลูชันที่ตอบโจทย์ซัพพลายเชนของแต่ละอุตสาหกรรมสำหรับธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ พร้อมสนับสนุนลูกค้าสู่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลอดจนยกระดับการทำธุรกรรมทางธุรกิจสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ 

ผ่าน 4 กลยุทธ์ ได้แก่  กลยุทธ์ที่ 1 ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรมด้วยโซลูชัน 360 องศาที่ออกแบบมาเพื่อแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ (Industry Solutions)  ทีทีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและตอบโจทย์เฉพาะให้แต่ละอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งสินเชื่อ ธุรกรรมการเงินทั้งในและต่างประเทศ 

กลยุทธ์ที่ 2 สนับสนุนลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition Solutions) โดยทีทีบีตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับลูกค้าธุรกิจถึง 60,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี  เพื่อผลักดันให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงกติกาใหม่ของประเทศไทยอย่าง Thailand Taxonomy และรวมถึง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้องค์กรใหญ่หลายแห่งก็ได้เริ่มกำหนดให้ซัพพลายเออร์และคู่ค้าต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเช่นกัน หากไม่สามารถทำตามเกณฑ์ก็อาจสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ หรือมีต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นได้          

นอกจากนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่รูปแบบใหม่ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ธนาคารมีโซลูชันที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน หรือ Transition Finance อาทิ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อสีฟ้า (Blue Loan) สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop Finance) สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (HP Program for EV) เป็นต้น รวมถึงการจัดสัมมนาและให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ผู้ประกอบการ 

กลยุทธ์ที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจด้วยดิจิทัลโซลูชันในทุกขั้นตอนของธุรกิจ (Digital Solutions) โดยในปี 2562 การเติบโตด้านธุรกรรมดิจิทัลของลูกค้าธุรกิจทีทีบี สูงขึ้นกว่า 20% และปัจจุบันลูกค้าธุรกิจโดยทั่วไปทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง 95-98% แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินภายในประเทศ (Cash Management) ในขณะที่ผลิตภัณฑ์กลุ่มสินเชื่อธุรกิจและธุรกรรมระหว่างประเทศยังคงมีการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลในสัดส่วนที่น้อยอยู่ เนื่องจากบางธุรกรรมยังต้องเดินทางไปทำที่สาขาหรือมีความต้องการเอกสารเป็นกระดาษ ซึ่งทีทีบีได้พัฒนาช่องทางดิจิทัลแบงก์กิ้งที่ดีที่สุด นั่นคือ ttb business one ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ที่ใช้ได้ทั้งอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงก์กิ้ง ให้ลูกค้าธุรกิจทำธุรกรรมออนไลน์ได้สะดวกและง่าย ควบคุมธุรกิจได้ในที่เดียว  ซึ่งคาดว่าจะทำให้ลูกค้าทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นเป็น 98% 

กลยุทธ์ที่ 4 พัฒนาโซลูชันบริหารความเสี่ยงที่ครบครันสำหรับผู้นำเข้าและส่งออก (Importer-Exporter Solutions) โดยทีทีบีถือเป็นธนาคารแนวหน้าในการพัฒนาเครื่องมือในการช่วยบริหารสกุลเงินท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น บัญชีสำหรับบริหารหลายสกุลเงิน (ttb multi-currency account) ที่ทำให้ลูกค้าสะดวก คล่องตัว ด้วยการใช้บัญชีเดียวในการบริหารได้ถึง 11 สกุลเงิน สามารถใช้ซื้อ ขาย รับ จ่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยทีทีบีเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่เสนอบัญชีประเภทนี้  นอกจากนี้ยังเป็นธนาคารแรกที่เสนอเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงสกุลเงินหยวน ผ่านผลิตภัณฑ์ "Yuan Pro-rata Forward" ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ ในปีนี้ ทีทีบียังคงเดินหน้าพัฒนาบริการและโซลูชันที่มุ่งตอบโจทย์ผู้นำเข้าส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุนและความเสี่ยงในการทำการค้าระหว่างประเทศ    

"ทีทีบีมั่นใจว่าจาก 4 กลยุทธ์ที่ธนาคารมีความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าธุรกิจ จะทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีมากกว่าเดิม และจะส่งผลให้ในปี 2567 เป้าหมายของธนาคารในทุกด้านสามารถเติบโตได้ตามที่ตั้งไว้ โดยยังคงมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่เอสเอ็มอีและลูกค้าธุรกิจไว้วางใจ พร้อมสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถขับเคลื่อนธุรกิจได้ในทุกสถานการณ์ สามารถก้าวผ่านความท้าทายต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน" นายศรัณย์ กล่าว

ขณะเดียวกันธนาคารยังควบคุมคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ผ่านการลดต้นทุนความเสี่ยงในการให้สินเชื่อ (Risk Cost) ซึ่งตั้งเป้าลด Risk Cost  ลงเหลือ 0.70% ในปี 67 จากปี 66 ที่ 0.86%

TTB