News Today

JPARK กำไรปี 66 โตตามนัด 14.17% รายได้เพิ่มทุกธุรกิจ


23 กุมภาพันธ์ 2567
“เจนก้องไกล” โชว์กำไรปี 66 ที่ 62.59 ลบ. โตตามนัด 14.17% โกยรายได้ 573 ลบ. เพิ่มขึ้นทุกธุรกิจ หนุนอัตรากำไรสุทธิเพิ่มเป็น 11.60% พร้อมแจกปันผล 0.0375 บาทต่อหุ้น ขึ้น XD 22 เมษายน 2567

JPARK กำไรปี 66.jpg

นายสันติพล เจนวัฒนไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนก้องไกล จำกัด (มหาชน) หรือ JPARK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2566 บริษัทฯมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 62.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.77 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 54.82 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯมีรายได้รวมสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 573.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 26.70% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 452.30 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯจะจ่ายปันผลสำหรับปี 2566 เป็นเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.0375  บาท โดยจะกำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) วันที่ 22 เมษายน 2567 และจ่ายปันผลในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567

โดยกำไรสุทธิ และรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ในทุกประเภทธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้บริการที่จอดรถ หรือ PS ที่มีรายได้ 354.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 27.31% จากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงส่งผลให้จำนวนผู้ใช้บริการที่จอดรถปรับตัวเพิ่มขึ้น และรายได้จากธุรกิจให้คำปรึกษา และรับติดตั้งระบบบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ หรือ CIPS มีรายได้ 121.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 73.66% จากงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสีน้ำเงินได้เริ่มทยอยรับรู้รายได้ตามอัตราส่วนของงานที่ทำเสร็จ หรือ Percentage of Completion รวมถึงรายได้จากธุรกิจรับจ้างบริหารจัดการพื้นที่จอดรถ หรือ PMS มีรายได้ 82.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 2.73%        

ในขณะที่อัตรากำไรสุทธิของบริษัทฯหากไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของสินทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือ Non-movable Assets ที่ติดตั้งอยู่บนพื้นที่เช่าให้สอดคล้องกับ ระยะเวลาของสัญญาเช่า ซึ่งเป็นรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว หรือ One-time Expense บริษัทฯจะมีอัตรากำไรสุทธิสำหรับปี 2566 เท่ากับ 11.60% ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2565 ที่อยู่ที่ 9.38% ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้จากการบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด หรือ Economic of scale ในการบริหารจัดการ