จิปาถะ

ส่องกำไรหุ้นค้าปลีก “เจ้าสัว” เซเว่นฯ-แม็คโคร-โลตัส-บิ๊กซี


20 กุมภาพันธ์ 2567

หุ้นค้าปลีกถือเป็นผู้นำที่ได้ผลบวกชัดเจน จากการฟื้นตัวของการบริโภค และการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังก็จะได้แรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

ส่องกำไรหุ้นค้าปลีก copy.jpg

วันนี้ “ประชาชาติ เวลธ์” เล่าเรื่องการลงทุน จะพาไปเจาะงบฯหุ้นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ทั้ง บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) โดยได้เชิญ คุณธรีทิพย์ วงษ์แสงไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย มาร่วมพูดคุยกันในวันนี้

Q : ประเมินงบฯหุ้นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในกลุ่มเจ้าสัวทั้ง CPAXT-CPALL-BJC เป็นอย่างไร

เราเริ่มกันที่ CPAXT ก็เป็นตัวแรก ทั้ง 3 ตัวที่มีการประกาศงบฯออกมาแล้ว ในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ก็รายงานกำไรออกมาค่อนข้างดีทีเดียว อยู่ที่ 3.3 พันล้านบาท โตขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และ 96% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ)

ปัจจัยแรกก็คือ ค่าใช้จ่ายเรื่องของดอกเบี้ยที่ปรับลดลง น่าจะทราบกันดีว่า CPAXT มีการรีไฟแนนซ์หนี้เงินตราต่างประเทศ มาเป็นหุ้นกู้ ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2566 และเริ่มเห็นทิศทางของค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/2566 ซึ่งผลตรงนี้ยังต่อเนื่องมาในไตรมาส 4/2566

อันที่สองก็เป็นเรื่องของความสามารถในการทำกำไร และก็รายได้ที่เติบโตขึ้นของทางฝั่งโลตัส ธุรกิจรีเทลเป็นหลัก

ซึ่งปกติแล้วก็เป็นฤดูการขายในธุรกิจค้าปลีก (โลตัส) และค้าส่ง (แม็คโคร) ก็ส่งผลให้ทั้งปี 2566 มีกำไรของ CPAXT อยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท เติบโต 12% YOY

ในขณะที่แนวโน้ม (Outlook) สำหรับปี 2567 เราประเมินยอดขายเติบโต 7% มาจากทั้งการเติบโตยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ที่เป็นบวก การขยายสาขาที่ยังต่อเนื่องในปีนี้ และยังมีเรื่องของมาร์จิ้นที่น่าจะมีการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจฝั่งโลตัส มีเรื่องของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่มีประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

รวมไปถึงรายได้ค่าเช่าที่มีโอกาสจะสูงขึ้นจากการปรับทั้งในแง่ของพื้นที่และการปรับอัตราค่าเช่า (Occupancy Rate) ทำให้คิดว่ากำไรของปี 2567 จะเติบโตที่ระดับ 27%

ตัวถัดมาขอไปที่ CPALL สำหรับในไตรมาส 4 คาดว่ากำไรจะออกมาค่อนข้างดี ประเมินไว้ที่ 4.6 พันล้านบาท +46% YOY และ +4% QOQ

คล้าย ๆ กัน ฤดูกาลขายช่วงไตรมาส 4 ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ยังเป็นช่วงที่มียอดขายที่ดี SSSG น่าจะ +3.5% เพราะฉะนั้นแนวโน้มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ น่าจะโตได้ทั้งยอดขายและก็กำไร

นอกเหนือจากนั้นก็จะมีส่วนแบ่งทั้งรายได้และกำไรมาจาก CPAXT เราประมาณในแง่ของรายได้อยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท มาจากส่วนของธุรกิจ CVS ประมาณ 1 แสนล้านบาท และจาก CPAXT อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท

เราคิดว่ากำไรทั้งปี 2566 ของ CPALL น่าจะอยู่ที่ 1.76 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 33% YOY ซึ่งถือว่าค่อนข้างเด่นทีเดียวเมื่อเทียบกับกลุ่มค้าปลีกโดยทั่วไป

ส่วนแนวโน้มของปีนี้ เราประเมินกำไรไว้อยู่ที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท +20% YOY คาดหวังถึงการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายในประเทศ ภาพของการขยายสาขาที่ยังต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ นอกเหนือจากนั้นยังมีกำไรจาก CPAXT ที่จะโต มีต้นทุนทางการเงินที่คิดว่าจะลดลง แนวโน้มการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ เกือบ 3 หมื่นล้านบาท น่าจะเห็นต้นทุนดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง

และสุดท้ายคิดว่าประโยชน์ที่ได้จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวน่าจะส่งผลดีต่อภาพของการบริโภคที่ลิงก์มาที่ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ

สิ่งที่ยังไม่ได้รวมในประมาณการ ยังมีเรื่องของดิจิทัลวอลเลต ที่จะส่งผลดีกับผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีสาขาค่อนข้างมากและกระจายทั่วประเทศ ซึ่ง CPALL เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าเกณฑ์

สุดท้ายจะเป็น BJC เราคาดว่ากำไรในช่วงไตรมาส 4/2566 จะอยู่ที่ 1.66 พันล้านบาท +2% YOY, +140% QOQ ตัวขับเคลื่อนหลัก ๆ จะมาจากเรื่องของอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ที่จะปรับตัวดีขึ้น ธุรกิจหลักก็เป็นธุรกิจค้าปลีก BigC ที่คาดว่ารายได้จะเติบโตทั้ง YOY, QOQ แม้ว่า SSSG จะติดลบเล็กน้อยที่ 0.5% เพราะได้ยอดขายจากส่วนของสาขาใหม่ ๆ ที่เปิดออกมา และคิดว่ามาร์จิ้นก็จะปรับตัวดีขึ้นด้วย

และอัตราภาษีในไตรมาส 4 น่าจะลดลงกว่าในช่วง 9 เดือนแรก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเห็นกำไรที่เติบโตได้ค่อนข้างเด่นก็มีค่อนข้างสูง และจะส่งผลให้ทั้งปี 2566 มีกำไร 4.8 พันล้านบาท ซอฟต์ลง 3.8% YOY

สำหรับแนวโน้มในปีนี้คิดว่าน่าจะกลับมาเติบโตได้ เรา Expect การ Growth อยู่ที่ 19% YOY

Q : ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบหุ้นค้าปลีกในปีนี้ มีปัจจัยอะไรบ้าง

ต้องบอกว่าการบริโภคในประเทศถือว่ายังฟื้นค่อนข้างช้า ในช่วงที่เหลือของปี ไม่ได้เร่งตัวขึ้น ก็มีความเสี่ยงในแง่ของการเติบโต

อันที่สองก็เป็นเรื่องของภาคการท่องเที่ยว ถ้าเป็นการฟื้นตัวแบบช่วงสั้น ๆ แล้วไม่ต่อเนื่อง ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้กลุ่มค้าปลีกไม่โตได้อย่างที่คาด

ส่วนประเด็นอื่น ๆ ก็จะมีเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าออกมาน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ เช่น ดิจิทัลวอลเลตที่อาจจะช้ามาก ๆ หรือไม่ทันในปีนี้ และประด็นสุดท้ายเรื่องของภัยแล้ง

ที่มา : https://today.line.me/th/v2/article/2DRpaq6