Talk of The Town

ลุ้น 8 แบงก์กำไรทะยาน 4.6 หมื่นล.


03 มกราคม 2567
เริ่มเข้าสู่เทศกาลการประเมินผลงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในงวดไตรมาส 4/2566 และงวดปี 2566 โดยโบรกเกอร์เริ่มทยอยคาดการณ์ออกมาอย่างคึกคัก ภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มแบงก์ใหญ่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ที่ผ่านมาเริ่มมีแรงซื้อเก็งกำไรเกิดขึ้นในกลุ่มดังกล่าว 

คาดแบงก์ใหญ่กำไร Q4 66 พุ่งทะลัก.jpg

บล.ดาโอ (ประเทศไทย) เผยแพร่บทวิเคราะห์ กลุ่ม Bank คงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” เรายังคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” โดยเราคาดกำไรสุทธิรวม 4Q23E ของกลุ่ม (8 ธนาคาร) จะอยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท (+38% YoY/-10% QoQ) โดยเพิ่มขึ้น YoY จากการตั้งสำรองฯที่ลดลง และ NIM เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ส่วนลดลง QoQ เพราะ OPEX เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล

ทั้งนี้ ธนาคารที่มีกำไรโตเด่นเรียงจากมาก-น้อยคือ (KBANK +198%, BBL +39%, SCB +20%) ส่วน NPL รวม 4Q23E มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.19% จาก 3Q23 ที่ 2.99% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหลายธนาคารเร่งขายหนี้เสียและ write-off ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารปี 2024E ที่ 2.1 แสนล้านบาท (+8% YoY) เติบโตชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับ 2023E ที่ +17% YoY เพราะ NIM จะทำจุดสูงสุดใน 4Q23E และจะเริ่มทยอยลดลงจากการจบรอบของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นไปแล้วในปี 2023E

 ส่วนภาพรวมของสินเชื่อปี 2024E จะกลับมาฟื้นตัวได้ที่ +4% YoY (เทียบกับปี 2023E ที่คาดโต +2%) จากสินเชื่อรายใหญ่ที่จะกลับมาฟื้นตัวได้จากฐานต่ำในปี 2023Eราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร outperform SET +4%/+12% ใน 3 และ 6 เดือน เพราะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

โดยเรายังคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” จากกำไรปี 2024E ที่เริ่มโตน้อยลง แต่ valuation ยังถูก เทรดที่ระดับเพียง 0.67x 2024E PBV (-1.0SD below 10-yr average PBV) โดยหุ้น top picks เราชอบ KBANK และ BBL โดย KBANK (ซื้อ/เป้า 155.00 บาท) จากคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น และ valuation ที่ 0.58x 2024E PBV (-1.50SD) ถูกกว่ากลุ่มที่ 0.65x และ BBL (ซื้อ/เป้า 205.00 บาท) จาก coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่มที่ 285% ที่รองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าคู่แข่ง และ valuation ที่ 0.55x 2024E PBV (-1.25SD) ต่ำสุดในกลุ่ม

บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคาร คาดกำไรสุทธิ 4Q23 (7 ธนาคาร) ที่ 4.5 หมื่นลบ. -10.7% q-q แต่ + 36.1% y-y สำหรับกำไร q-q ที่ลดลง เราคาดทุกธนาคารปรับลงหมด โดย KKP และ KTB จะแย่สุด ขณะที่ BBL และ TISCO จะดีสุด ส่วน y-y ที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกธนาคาร ยกเว้น KKP สำหรับสาเหตุที่กำไรลดลง q-q มาจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นในช่วง 4Q ของทุกปี และการตั้งสำรองเพิ่มแต่จะถูกชดเชยด้วยรายได้จากดอกเบี้ยรับสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้น y-y อย่างมีนัยสำคัญเป็นผลจากการขยายตัวของ NIM ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและสินเชื่อที่เติบโตเล็กน้อย

ทำให้ทั้งปี 2023 คาดกำไรสุทธิรวม 7 ธนาคารที่ 197.8 พันลบ. +19.6% y-y ขณะที่คาดกำไรสุทธิปี 2024-25 +5-6% y-y เรายังให้น้ำหนักลงทุนเป็น Neutral เลือก KTB (ราคาเป้าหมาย 23.60 บาท) และ KBANK (ราคาเป้าหมาย 152 บาท) เป็น Top pick
 
ขณะที่ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย)คาดการณ์ KBANKมีกำไร 4Q66 จะเพิ่มสูงขึ้นมาก y-y แต่ลดลง q-q สินเชื่อเริ่มฟื้นตัว แต่ยังน่าจะทำให้ KBANK เป็นธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากที่สุดในปี 66 แต่แลกมาด้วยคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดกำไรปี 66 โต 18.7% y-y และโตต่อ 11% y-y ในปี 67 คงราคาพื้นฐาน 166 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”

สำรองที่ลดลงมากทำให้กำไรโต y-y แต่ค่าใช้จ่ายทำให้ลด q-q : ทางฝ่ายคาดว่า KBANK จะมีกำไร 4Q66 9.7 พันลบ. เพิ่มขึ้นถึง 204.6% y-y เนื่องจากการตั้งสำรองที่คาดว่าจะลดลงมาก จาก4Q65 ที่ KBANK มีการตั้งสำรอง 22.8 พันลบ. ลดลงเหลือเพียง 12.6 พันลบ. ใน 4Q66 นอกจากนี้ยังคาดว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นยังทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วย เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับ 3Q66 คาดว่ากำไรจะลดลง 11.6% q-qถึงแม้จะคาดว่าสินเชื่อจะฟื้นตัวขึ้น และการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะยังทำให้รายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อ แต่ค่าใช้จ่ายที่จะเข้ามามากในช่วงปลายปี ทำให้กำไรลดลง

สินเชื่อพ.ย.ฟื้นตัว แต่ทั้งปียังน่าจะติดลบสูงที่สุดในกลุ่ม : สินเชื่อเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้น 0.4% m-m และทำให้สินเชื่อเหลือติดลบ 3.3% ytd แต่ยังน่าจะทำให้ KBANK ยังคงเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากที่สุดในปี 66